a

ประวัติโรงไฟฟ้าวังน้อย

คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมวันที่ 5 ตุลาคม 2536 มีมติอนุมัติในหลักการให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมวังน้อยชุดที่ 1 - 4 (4 x 300 เมกะวัตต์) เป็นโครงการเร่งด่วนโดยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีมติเห็นชอบโครงการและเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2537 แต่เนื่องจาก กฟผ. ได้ศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดในการขนส่งอุปกรณ์หนักโรงไฟฟ้า พบว่าเป็นไปได้ที่จะขนส่งอุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ลดการลงทุน ลดขนาดพื้นที่ และลดการใช้เชื้อเพลิงลง จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอคณะการฯ เพื่อขออนุมัติเพิ่มเติม มีมติให้ กฟผ. สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตชุดละ 600 เมกะวัตต์ จำนวน 2 ชุดได้ และคณะกรรมการฯ เห็นควรให้ กฟผ. ดำเนินการโดยแก้ไขชื่อโครงการจาก " โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมวังน้อย ชุดที่ 1-4 " เป็น " โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมวังน้อย ชุดที่ 1-2" และคณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2537

กฟผ. ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมวังน้อย ชุดที่ 1-6 ตั้งแต่ในระยะทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการ แล้วเสร็จเสนอสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 โดยเริ่มแรกกำหนดเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมขนาดกำลังผลิตชุดละ 300 เมกะวัตต์ จำนวน 6 ชุด รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2537 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2537 ต่อมาจึงจัดทำรายงานการวิเคราะห์เพิ่มเติม โครงการโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมวังน้อย ชุดที่ 1 - 3 (3 x 600 เมกะวัตต์) เสนอ สผ. และรายงานดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการอุตสาหกรรม เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 13/2537 วันที่ 15 สิงหาคม 2537 โดย กฟผ. ต้องปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เสนอไว้ในรายงานฯ ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมวังน้อย ชุดที่ 1 - 6 ฉบับเดิมที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปแล้ว และในรายงานฯ เพิ่มเติมโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมวังน้อย ชุดที่ 1 - 3 (3 x 600 เมกะวัตต์) รวมทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ