กฟผ.-มธ.เปิดตัวนวัตกรรมการแยก Black Mass จาก EV Battery แห่งแรกของประเทศ

อวสานขยะแบตเตอรี่ กฟผ. - มธ. เปิดตัวนวัตกรรมการแยกBlack MassจากEV Batteryแห่งแรกของประเทศ พร้อมต่อยอดเชิงอุตสาหกรรม

กฟผ.จับมือ มธ.แถลงผลสำเร็จงานวิจัย การพัฒนาระบบการแยกแบล็คแมสจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า/แบตเตอรี่อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบขยายขนาดครั้งแคกของประเทศไทย เพิ่มประสิทธิภาพการแยกโลหะมีค่าส่งต่อกระบวนการRecycleกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 400 กิโลกรัม/วัน พร้อมต่อยอดเชิงอุตสาหกรรม และรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเปิดตัวและแถลงผลวิจัยโครงการ การพัฒนาระบบการแยกแบล็คแมสจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า/แบตเตอรี่อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบขยายขนาดโดยมี รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ (ชยน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมเป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.สัญญา มิตรเอม คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. นายทินกร ลิมปนสุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าวังน้อย (อฟว.) และศาสตราจารย์ ดร. นุรักษ์ กฤษดานุรักษ์ หัวหน้าทีมนักวิจัย รวมทั้งผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และ มธ. ร่วมในพิธี ณ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. ได้กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือที่นักวิจัย มธ. ได้ทำงานวิจัยร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ซึ่งเป็นการผลักดันให้งานวิจัยสามารถพัฒนาออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถจับต้องได้ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง สร้างประโยชน์ในด้านวิชาการ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบสนองโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ขอขอบคุณ กฟผ. ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และได้เอื้อเฟื้อให้ดำเนินงานวิจัยในพื้นที่โรงไฟฟ้าวังน้อย เพื่อนำร่องพัฒนากระบวนการบดแยกโลหะมีค่าที่เรียกว่า แบล็คแมส(Black Mass) ตลอดจนการสนับสนุนการวิจัย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถพัฒนาความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนด้านงานวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

นายวฤต รัตนชื่น ชยน. กล่าวว่า Electric Vehicles (EV) หรือยานยนต์ไฟฟ้า กำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันมากขึ้นเรื่อย ๆ การเติบโตของ EV นำมาซึ่งปริมาณแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Battery) ที่หมดสภาพจากการใช้งานที่เพิ่มจำนวนขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น กฟผ. จึงได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว และได้เริ่มทำการวิจัยร่วมกับ มธ. และเครือข่ายนักวิจัย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล (Recycle) วัสดุจากแบตเตอรี่หมดสภาพ โดยเริ่มทดลองในระดับห้องปฏิบัติการ (Laboratory scale) ณ โรงไฟฟ้าวังน้อย ซึ่งการวิจัยนี้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบดแยกโลหะมีค่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับการนำไปรีไซเคิล ผ่านกระบวนการสกัดและทำให้บริสุทธิ์สำหรับการนำไปใช้งานใหม่ต่อไป และด้วยความร่วมมือในการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ได้ต่อยอดกระบวนการวิจัยเข้าสู่ระยะที่ 2 ในการขยายขนาดเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในรูปแบบอุตสาหกรรม ปัจจุบัน ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการบดแยกเป็นหน่วยงานแรกของประเทศ ด้วยกำลังการทำงานบดแยกแบตเตอรี่หมดสภาพถึง 400 กิโลกรัมต่อวัน โดยสามารถแยกโลหะมีค่าออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบสำหรับหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนใจ และหวังว่างานวิจัยนี้จะเป็นตัวจุดประกายการพัฒนาระบบการจัดการแบตเตอรี่หลังการใช้งานของประเทศในมิติอื่น ๆ ต่อไป

ปัจจุบันการจัดการของเสียอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ยังไม่มีระบบและมาตรการรองรับที่เหมาะสมในประเทศ กฟผ. และ มธ. และเครือข่ายนักวิจัยจากหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงได้ริเริ่มการทำวิจัยโครงการการพัฒนาระบบการแยกแบล็คแมสจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า/แบตเตอรี่อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบขยายขนาดขึ้น ตั้งแต่ปี 2564 และได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพรองรับเชิงอุตสาหกรรมพร้อมต่อยอดเชิงธุรกิจ รวมทั้งยังสร้างความเข้าใจด้านการแยกและจัดเก็บแบตเตอรี่หมดสภาพ ตลอดจนประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้ทำงาน โดยผลงานวิจัยนี้เป็นความสำเร็จด้านการแยก Black Mass แห่งแรกของประเทศ สามารถรองรับกำลังการผลิต 50-200 กิโลกรัม/ชั่วโมง หรืออย่างน้อย 400 กิโลกรัม/วัน เป็นการแยกโลหะมีค่าด้วยกระบวนการทางกล ซึ่งไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการดำเนินการ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Greenhouse Gas (GHG) น้อยกว่ากระบวนการแบบการเผา สามารถเป็นต้นแบบการเรียนรู้และต่อยอดทั้งในมิติด้านเครื่องจักรกล (Mechanical Aspect) ด้านเคมีภัณฑ์ (Chemical Aspect) และด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspect) ถือเป็นการวิจัยที่ครอบคลุมทั้งทางเทคนิคและสังคม ตอบโจทย์การสร้างการเรียนรู้แบบยั่งยืน


ผู้รับผิดชอบข้อมูล : นายทินกร ลิมปนสุทธิพงศ์ (ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าวังน้อย)

ผู้ดูแลข้อมูล : นางพิริยา เสนะรัตน์ โทร.02-4368747 ต่อ 2040 email : phiriya.s@egat.co.th (หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์)

ผู้ดูแลเว็บไซต์ : นายนรเศรษฐ์ ธนาเดชาพงศ์ โทร.02-4368747 ต่อ 2080 email : norasaet.tha@egat.co.th (เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ)